ประวัติและปรัชญา

/ประวัติและปรัชญา
ประวัติและปรัชญา 2019-12-08T13:30:59+00:00

ประวัติคณะศิลปกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงและวิทยาลัยวิชาการศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง สถาปนาพุทธศักราช 2492 วิทยาลัยวิชาการศึกษา พุทธศักราช 2496 และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช 2517

โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ถือกำเนิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในกระแสสังคมที่เริ่มคลี่คลายจากการตื่นตระหนกภัยสงคราม ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อมุ่งเน้นความสมานฉันท์และผลักดันความร่วมมือทางด้านต่าง ๆ รวมทั้ง การผลักดันทางด้านการศึกษา เพื่อให้โลกใบนี้เจริญก้าวหน้าและมีสติปัญญามากขึ้น “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง” ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2492 ณ ถนนประสานมิตร กรุงเทพมหานคร เพื่อผลักดันการศึกษาทางด้านวิชาชีพครู ในช่วงเวลาที่วิชาชีพครูขาดแคลน และไม่สมดุลกับการขยายตัวของสังคม และศาสตร์ทางด้านการศึกษายังใหม่ต่อสังคมในขณะนั้น เป็นการเริ่มต้นการศึกษาในระดับวุฒิประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา และประกาศนียบัตรครูมัธยมศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถือกำเนิดขึ้นจากการผลักดันของ ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในขณะนั้น และท่านก็ได้มีบทบาททางด้านการศึกษาทั้งที่โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง วิทยาลัยวิชาการ และสังคมไทย

เมื่อโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ระหว่างพุทธศักราช 2492– 2496 ท่านเป็นผู้นำและผู้วางรากฐานระเบียบแบบแผนของการฝึกหัดครู เป็นผู้บุกเบิกงานวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบแผนของปูชนียบุคคลในวิชาชีพครูอย่างสูงยิ่ง

วิทยาลัยวิชาการศึกษา

ถึงพุทธศักราช 2496 ปัญหาการขาดแคลนครูและนักการศึกษาเป็นปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้นในสังคมไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุก ๆ ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ผู้นำการศึกษาสมัยใหม่หรือผู้นำการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ในสังคมไทย ได้เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการให้ก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา (College of Education) ขึ้นเพื่อพัฒนาปรัชญา แนวคิดและความรู้ความสามารถทางด้านการศึกษาสมัยใหม่ ให้สอดคล้องผสานสัมพันธ์กับสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาศาสตร์ให้เป็นวิชาชีพที่มีระบบแบบแผนและมีความลุ่มลึกในสังคมไทย พร้อมกับการประสาทปริญญาทางด้านศึกษาศาสตร์ ทั้งในระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต เมื่อแรกเริ่มการสถาปนาวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้นแทน โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงนั้น (16 กันยายน 2497) ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในระหว่างพุทธศักราช 2497–2499 ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะวิชาการศึกษาหลังจากนั้นจึงได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยวิชาการศึกษา จนถึงพุทธศักราช 2511

วิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้เป็นผู้นำในการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ภายใต้แนวคิดระบบโรงเรียนสาธิต (Demonstration School) เพื่อให้โรงเรียนสาธิตเป็นแปลงทดลองค้นคว้า ในระบบการศึกษาพื้นฐานสมัยใหม่ วิทยาลัยวิชาการศึกษาจัดระบบการศึกษาแบบวิทยาเขต โดยขยายวิทยาเขตปทุมวัน (2498) วิทยาเขตบางแสน (2498) วิทยาเขตพิษณุโลก (2510) วิทยาเขตมหาสารคาม (2511) วิทยาเขตสงขลา (2511) วิทยาเขตพระนคร (2512) และวิทยาเขตพลศึกษา (2513) โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหาร

วิทยาลัยวิชาการศึกษา ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ในฐานะที่ท่านเป็นนักวิชาการและนักการศึกษาสมัยใหม่ ได้พัฒนาแนวคิดแบบพิพัฒนาการนิยมและการเรียนการสอนสมัยใหม่จากสังคมตะวันตก นำมาวางหลักปักฐานไว้ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบห้องสมุด ระบบคะแนน ระบบการวัดผล รวมทั้งวิชาการศึกษาสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าที่สุดในสังคมไทยขณะนั้น นอกจากนั้นแล้ว วิทยาลัยวิชาการศึกษายังได้รับการช่วยเหลือทั้งด้านบุคลากร หนังสือ และทุนการศึกษามากมาย จนอาจกล่าวได้ว่า วิทยาลัยวิชาการศึกษา มีระบบการศึกษาที่ก้าวหน้าที่สุดในช่วงเวลานั้น ตราหรือเครื่องหมายของวิทยาลัย วิชาการศึกษา ซึ่งเป็นสมการทางด้านคณิตศาสตร์ Y = ex (Exponential Curve) เส้นกราฟของการขยายเพิ่มขึ้น มีความหมายสอดคล้องปรัชญาที่ว่า “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” หรือ สิกขา “วิรุฬหิ สมปตตา” หรือ “ Education is Growth” รวมทั้งสอดคล้องกับ “สีเทา–แดง” ซึ่งสีเทา เป็นสีของสมอง หมายถึง “ความคิด” และสีแดงเป็นสีของเลือด หมายถึง “ความกล้าหาญ” สีเทา – แดง จึงหมายถึง “คิดอย่างกล้าหาญ”

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

พุทธศักราช 2516 ก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในช่วงเวลาที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร ดำรงตำแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยวิชาการศึกษา คณาจารย์ นิสิต และข้าราชการ ได้ร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปรับฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นกับทบวงมหาวิทยาลัย ท่ามกลางการปกครองที่เข้มงวดรุนแรงของรัฐบาลทหารในขณะนั้น เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาโครงสร้าง การบริหาร และการเรียนการสอนที่จำกัด ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยและการขยายตัวที่มีความหลากหลายวิชาชีพ ท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ “มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร” ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นในปีถัดมา (29 มิถุนายน 2517) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เป็นอธิการบดี (พุทธศักราช 2512 – 2521)

มหาวิทยาลัยมีระบบบริหารจัดการในรูปวิทยาเขตมาจนถึง พ.ศ. 2533 รวมเวลา 16 ปี วิทยาเขตจึงเริ่มแยกออกไปเป็นมหาวิทยาลัยอิสระโดยมีการบริหารจัดการและงบประมาณเป็นของตนเอง ดังนี้ พ.ศ. 2533 วิทยาเขตบางแสนและวิทยาเขตพิษณุโลก ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2536 ยุบรวมวิทยาเขตปทุมวัน บางเขน และประสานมิตรเข้าเป็นวิทยาเขตกลาง พ.ศ. 2537 วิทยาเขตมหาสารคาม ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และพ.ศ. 2539 วิทยาเขตสงขลายกฐานะเป็นเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ขณะที่มหาวิทยาลัยแม่ก็ขยายตัวไปที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ในปีพุทธศักราช 2539

คณะศิลปกรรมศาสตร์

เมื่อปีพุทธศักราช 2518 วิทยาลัยวิชาการศึกษาพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ขยายโครงสร้างและบทบาทของมหาวิทยาลัยให้เป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นทางด้านศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานของ มหาวิทยาลัย ทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งทางด้านศิลปกรรมศาสตร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาททางด้านศิลปกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั้น ได้แสดงบทบาทสำคัญมาตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสอนวิชาพื้นฐาน วิชาความซาบซึ้งทางศิลปะ และวิชาความซาบซึ้งทางดนตรี เพื่อสร้างรสนิยมอันประณีตงดงามให้กับบัณฑิตทุกคน การเปิดแผนกวิชาศิลปศึกษา ภายใต้คณะวิชาการศึกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ในปีพุทธศักราช 2511 และผลิตบัณฑิตทางด้านการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกศิลปศึกษา เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

เมื่อพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปีพุทธศักราช 2518 ภารกิจทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ได้พัฒนาต่อไป โดยการขยายโครงสร้างเป็นภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม และภาควิชาดุริยางคศาสตร์ ภายใต้คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรมได้เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกศิลปศึกษา และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต วิชาเอกศิลปะ ซึ่งวิชาเอกศิลปะมุ่งเน้นทางด้านการออกแบบสื่อสาร ส่วนภาควิชาดุริยางคศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต ทั้งวิชาเอกดุริยางคศาสตร์ไทยและดุริยางคศาสตร์สากล โดยเริ่มภารกิจในโครงสร้างใหม่ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2519 เป็นต้นมา

หลังจากนั้น การขยายการศึกษาไปสู่ระดับบัณฑิตศึกษาจึงเริ่มขึ้นด้วยหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต วิชาเอกศิลปศึกษา เปิดสอนเป็นแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีพุทธศักราช 2528 และตามมาด้วยการเปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกมนุษยดุริยางควิทยา ในปีพุทธศักราช 2535 ราวปีพุทธศักราช 2530 แนวคิดในการขยายบทบาททางด้านศิลปกรรมศาสตร์ ไปสู่การเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ปรากฏชัดขึ้น หลังจากนั้นการเสนอโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จึงเริ่มขึ้นในปีถัดมา โดยคณะบุคคลที่ปรารถนาจะเห็นรสนิยมอันประณีตงดงาม และมีระบบแบบแผนทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ พัฒนาขึ้นในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและสังคมไทย ท้ายที่สุดโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ก็ได้รับการอนุมัติ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2536 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 28 มิถุนายน 2536

เมื่อพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปีพุทธศักราช 2518 ภารกิจทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ได้พัฒนาต่อไป โดยการขยายโครงสร้างเป็นภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม และภาควิชาดุริยางคศาสตร์ ภายใต้คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรมได้เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกศิลปศึกษา และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต วิชาเอกศิลปะ ซึ่งวิชาเอกศิลปะมุ่งเน้นทางด้านการออกแบบสื่อสาร ส่วนภาควิชาดุริยางคศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต ทั้งวิชาเอกดุริยางคศาสตร์ไทยและดุริยางคศาสตร์สากล โดยเริ่มภารกิจในโครงสร้างใหม่ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2519 เป็นต้นมา

หลังจากนั้น การขยายการศึกษาไปสู่ระดับบัณฑิตศึกษาจึงเริ่มขึ้นด้วยหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต วิชาเอกศิลปศึกษา เปิดสอนเป็นแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีพุทธศักราช 2528   และตามมาด้วยการเปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกมนุษยดุริยางควิทยา ในปีพุทธศักราช 2535 ราวปีพุทธศักราช 2530 แนวคิดในการขยายบทบาททางด้านศิลปกรรมศาสตร์ ไปสู่การเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ปรากฏชัดขึ้น หลังจากนั้นการเสนอโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์  จึงเริ่มขึ้นในปีถัดมา โดยคณะบุคคลที่ปรารถนาจะเห็นรสนิยมอันประณีตงดงาม และมีระบบแบบแผนทางด้านศิลปกรรมศาสตร์  พัฒนาขึ้นในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและสังคมไทย  ท้ายที่สุดโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ก็ได้รับการอนุมัติ เมื่อวันที่ 16  มิถุนายน 2536 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 28  มิถุนายน  2536

ปรัชญาคณะศิลปกรรมศาสตร์

ศิลปกรรมสรรค์สร้างปัญญา

ปัญญาสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต