Project Description
เมื่อไม่นานมานี้ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการทางดุริยางคศิลป์และเทศกาลแสดงศิลปวัฒนธรรมอินโดนีเซีย กาเมลัน : 9 ทศวรรษ วงดนตรีชวาสู่ราชอาณาจักรสยาม ณ หอแสดงดนตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 90 ปี เจ้าผู้ครองนครสุระการ์ตา (Surakarta) ทูลเกล้าถวายวงกาเมลันเป็นที่ระลึกความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและชวา เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสชวา เมื่อปี พ.ศ. 2472
ภายในงานมีการจัดเสวนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นความรู้ ในหัวข้อประวัติความเป็นมา ของ
กาเมลันสู่ราชอาณาจักรสยาม รวมถึงแนวคิด วิธีการบรรเลง กาเมลันชวาและ แนวคิดร่วมทางดนตรีระหว่าง
วงปี่พาทย์ไทยและวงกาเมลันชวา โดย อาจารย์อิ่มทิพย์ ปัตตะโชติ ซูฮาร์โต ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์
ความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย และอาจารย์ดร.สุรศักดิ์ จำนงค์สาร อาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทยและเอเซีย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์อันประดิษฐ์ขึ้นใหม่เผยแพร่ในงานเป็นครั้งแรก คือ “ระบำฆ้องใหม่” ซึ่งประพันธ์ทำนองเพลงโดย รองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน ศาสตราภิชานประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สื่อความหมายถึงการมีเสียงฆ้องใหม่ในดินแดนสยาม ออกแบบท่ารำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว / อาจารย์พัณณ์ชิตา เดชครุธ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ที่ได้นำนาฏยลักษณ์อันงดงามตามแบบนาฏศิลป์ชวาและนาฏศิลป์ไทยมาผสมผสานกัน
“การแสดงนี้เรายังคงลักษณะเด่นของนาฏศิลป์ชวา คือ การร่ายรำโดยใช้ผ้าผูกเอว หรือ ซัมปูร์ (sampur) แสดงลีลาท่ารำของสตรีในโอกาสการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีการมีเสียงฆ้องใหม่ในดินแดนสยาม ตลอดจนแสดงความเคารพบูชาเพื่อ
ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดอำนวยพรมงคล ด้วยลีลาท่ารำอันอ่อนช้อยผสมกลมกลืนอย่างสง่างามแสดงถึงจิตใจอ่อนโยนบริสุทธิ์ ซึ่งออกแบบเครื่องแต่งกายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทย อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว เพื่อสร้างความประทับใจและความสุขแก่ผู้ชมทุกท่าน” คณบดีกล่าว
ขอบคุณ แหล่งข่าวจาก PRSWU