Project Description
”ชานปิ่เลย์ นีออนมอญ“ การเดินทางของดอกกุหลาบมอญ จากหงสางดีสู่มอญพระประแดง ผลงานศิลปวัฒนธรรมนิพนธ์ของนิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์มติชน Matichon Online – มติชนออนไลน์ มา ณ ที่นี้ครับผม
#ชานปิ่เลย์นีออนมอญ #ศิลปวัฒนธรรมนิพนธ์
#ทีมนวัตกรรมการจัดการศิลปวัฒนธรรม
#ทีมศิลปกรรมศาสตร์ #ทีมมศว
#ACMI #FOFA #SWU
Link หน้าข่าวมิติชนออนไลน์ –>https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_4320404
‘ชานปิ่เลย์ นีออนมอญ’ ศิลปวัฒนธรรมนิพนธ์ มศว จากหงสาถึงพระประแดง
หนึ่งในชาติพันธุ์สำคัญที่ร่วมประกอบสร้างความเป็นไทย คือ ‘มอญ’ ซึ่งยังคงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนได้อย่างเข้มแข็ง ดังเช่น ชุมชน ‘เว่ขะราว’ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ล่าสุด เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นิสิตชั้นปีที่ 4 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการศิลปวัฒนธรรม (ACMI) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดแสดงผลงานศิลปวัฒนธรรมนิพนธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม เผยแพร่ และสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวมอญพระประแดงให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน ประกอบไปด้วย การจัดนิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชุมชนและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวมอญพระประแดงผ่านการเดินทางของดอกกุหลาบมอญ จากหงสาวดีสู่มอญพระประแดง
โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 โซน ได้แก่
1.โซนราก นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความความเชื่อและความศรัทธาของชาวมอญพระประแดงที่ฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณของลูกหลานชาวมอญ
2.โซนลำต้นและหนาม นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวมอญพระประแดงที่ยังมีการสืบทอดและเสี่ยงต่อการสูญหาย
3.โซนดอก นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมของชาวมอญพระประแดงอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการแสดง Mini Light & Sound เล่าเรื่องราวการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวมอญจากหงสาวดีสู่พระประแดง และการดำเนินวิถีชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการแสดงชุด วิถีสายน้ำ เป็นการนำเสนอแสง สี ประกอบดนตรีร่วมสมัย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงสำเนียงมอญเพื่อแสดงถึงความรักและหวงแหนวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองที่เคยรุ่งเรืองมาแต่เก่าก่อน
กิจกรรม Workshop การทำธงตะขาบ การทำพวงมโหตร การตอกกระดาษ ซึ่งเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมที่ยังมีการสืบทอดกันอยู่ในชุมชนและกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ในการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี การจำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากทุนทางวัฒนธรรม (Souvenir) โดยนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนมาต่อยอดเป็นสินค้า อาทิ สติ๊กเกอร์ โปสการ์ด สเปรย์แอลกอฮอล์การ์ด สแตนดี้อะคริลิค โดยใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ด้านศิลปะและการออกแบบเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมผ่านการออกร้านจำหน่ายอาหารท้องถิ่นเพื่อยกระดับรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และชุมชนได้มีพื้นที่ในแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนอีกด้วย