น.ส.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า การแสดง แสง สี เสียง มาฆปูรมี ศรีสระแก้ว เริ่มจากงานบริการวิชาการ ทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ได้เข้าไปช่วยงานทางด้านทุนวัฒนธรรมของจังหวัดสระแก้ว ที่มีอยู่แล้วให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และเรามองเห็นว่าสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะชาวไทย หรือชาวต่างประเทศจะรู้จักมากขึ้นกว่าเดิม พร้อมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดสระแก้วให้มากขึ้น โดยการแสดงแสง สีเสียงในครั้งนี้ จะจัดแสดงที่ปราสาทที่มีความเก่าแก่ และมีความเป็นมา มีชื่อว่า “สด๊กก๊อกธม” เพื่อสื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ความศรัทธา โดยเชื่อมร้อยกับวันสำคัญทางพุทธศาสนานั่นคือ ค่ำคืน มาฆบูชา โดยใช้ชื่องานว่า “แสง สี เสียง สด๊อก๊อกธม :สัมพันธ์ ศรัทธา บูชามาฆปูรมี” เพื่อคลี่คลายให้เห็นว่าทำไมความคิด ความเชื่อ ของผู้คนในแถบจังหวัดสระแก้วและชายแดนไทย-กัมพูชาที่เป็นเพื่อนบ้านของไทยถึงมีความเชื่อ ความศรัทธาทางพุทธศาสนาในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับการบูชาและเคารพปราสาท โดยในค่ำคืนมาฆบูชา ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ชาวบ้านถึงได้ไปเวียนเทียนที่ปราสาทสด๊อก๊อกธม การแสดงแสง สี เสียง ของค่ำคืนนั้นจึงจัดให้มีขึ้นในวันมาฆบูชา ณ ปราสาทสต๊อก๊อกธม อ.โคกสูง จ.สระแก้ว จะบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้ที่เข้าชมงานได้รับรู้และรับทราบที่มาที่ไปของความเชื่อ ความศรัทธาตรงนี้ โดยเริ่มการแสดงในเวลา 17.00 น.เป็นการแสดงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม
“มศว จัดการแสดงแสงสีเสียง สด๊อก๊อกธมมาเป็นปีที่ 2 แล้ว พบว่า ชาวบ้านในเขตชายแดนของไทยและกัมพูชาอยู่กันด้วยความรักความสามัคคี แม้จะมีชนชาติหลากหลายชาติพันธุ์ หากแต่ความแตกต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้ก็ยังทำให้ชาวบ้านทั้งไทยและกัมพูชาอยู่กันได้ด้วยความเชื่อ ความศรัทธาในพลังความดีงาม เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในเขตจังหวัดสระแก้ว เราหวังว่าต่อแต่นี้ไปหากการแสดงแสง สี เสียงของจังหวัดถูกนำเสนอผ่านสื่อและช่องทางที่หลากหลาย การแสดงแสง สี เสียง ที่ดำเนินการขึ้นเป็นปีที่ 2 และปี ต่อๆ ไปจะเป็นประเพณีของทางจังหวัด เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดสระแก้วเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลมาฆบูชา ที่มีการเวียนเทียนรอบปราสาท นักท่องเที่ยวสามารถเลือกมาท่องเที่ยวและเลือกมาเวียนเทียนร่วมกับชาวบ้านและชมการแสดงแสง สี เสียง ได้อีกด้วย เราหวังว่าความช่วยเหลือที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว เข้ามาบริการวิชาการให้ทางชุมชนและจังหวัด จะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันของคนในจังหวัด และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนขึ้น โดยไม่ทำให้พื้นที่หรือชุมชนสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเองไป” น.ส.ระวิวรรณกล่าว
น.ส.ระวิวรรณ กล่าวอีกว่า งานบริการวิชาการแก่ชุมชนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ได้ดำเนินการผ่านไป 1 ปี ส่งผลให้เกิดความไว้วางใจและความเชื่อถึงที่จังหวัดมอบให้มศว จนตอนนี้เกิดโครงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องขึ้น โดยทางจังหวัดสระแก้ว การท่องเที่ยว สภาวัฒนธรรมจังหวัด กรมศิลปากร มีความเห็นร่วมกันว่า มศว จัดงานแสง สี เสียง ให้ทางจัดหวัดเน้นความรู้ ความคิดมุมมองทางศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ความคิดความเชื่อ ความศรัทธา และการแสดงแสง สี เสียง ที่มศวเป็นแม่งานนั้น เป็นการแสดงที่ไม่ทำลายองค์ปราสาท ไม่เน้นการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ ไม่เน้นเสียงอึกทึก เป็นการแสดงที่ทำให้เห็นกระบวนการอนุรักษ์โดยผ่านความรู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกรมศิลปากรชื่นชมคณะทำงานแสง สี เสียง ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว มา และอยากเห็นพื้นที่จังหวัดอื่นๆ จัดแสดง แสง สี เสียงบริเวณพื้นที่องค์ปราสาท โดยเน้นแนวทางการอนุรักษ์เหมือนอย่างที่ มศว จัดแสง สี เสียง ที่ สด๊อก๊อกธม จ.สระแก้ว