งานวิจัย มศว ลวดลายผ้าซิ่นตีนจกของชาติพันธุ์ลาวครั่ง ผงาดศักดิ์ศรีวิชาการ ใน มหกรรมงานวิจัยเเห่งชาติ

1 ใน 4 พันธกิจของมหาวิทยาลัยคือความเป็นเลิศทางวิชาการ งานวิจัยเป็นหนึ่งที่จะแสดงศักยภาพความเข้มแข็งของความเป็นเลิศทางวิชาการนั้นๆ ของมหาวิทยาลัยไปสู่แนวนโยบายของการเป็น “มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม” อย่างยั่งยืน 
ล่าสุด ผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาวิเคราะห์ลวดลายผ้าซิ่นตีนจกของชาติพันธุ์ลาวครั่งในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน ประเทศไทย ผลงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้นำไปแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยเเห่งชาติ Thailand Research Expo 2016 เรื่อง ผู้คร่ำหวอดและนับวันจะเพิ่มประสบการณ์องค์ความรู้บนเส้นทาง “ผ้าไทย” ให้ไต่อันดับเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองคนหนึ่งในแวดวงการศึกษา ไม่นับกับความเป็น “นักสะสมผ้าไทย” 
จากแรงสนับสนุนของสถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย มศว และแรงส่งแรงบันดาลใจของเจ้าของงานวิจัยนี้ ทำให้งานวิจัยเรื่อง การศึกษาวิเคราะห์ลวดลายผ้าซิ่นตีนจกของชาติพันธุ์ลาวครั่งในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน ประเทศไทย ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้นำขึ้นทูลเกล้านำเสนอแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรและทรงซักถามด้วยความสนพระทัยยิ่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่มีต้นทุนวิชาการงานวิจัยอันทรงคุณค่านับไม่ถ้วน ซึ่งผลวิจัยได้ก่อให้เกิดประโยชน์การพัฒนา สร้างมูลค่าแก่ชุมชน สังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เกิดการสืบทอด ประยุกต์เเละพัฒนาการตลาดเพื่อให้อยู่รอดได้ในสมัยนิยมที่เปลี่ยนไป 
ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ กล่าวว่า “การศึกษาวิเคราะห์ลวดลายผ้าซิ่นตีนจกของชาติพันธุ์ลาวครั่งในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน ประเทศไทย มีแรงบันดาลใจมากจากความสนใจในหัตถกรรมสิ่งทอทางด้านประวัติศาสตร์และด้วยเป็นคนสุพรรณบุรี ก็เลยเกิดความสนใจกลุ่มผ้าเหล่านี้ เพราะในกลุ่มผ้าเหล่านี้มีความพิเศษตรงที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวลาวครั่ง สามารถทำเทคนิคสิ่งทอได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทอขัด การทำมัดหมี่ จก หรือขิด ล้วนแล้วแต่เป็นเทคนิคที่อยู่ในผ้าลาวครั่ง ทำให้เกิดความสนใจที่จะทำการศึกษาวิเคราะห์เรื่องลวดลาย
ในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้โลกของเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนแต่ละท้องถิ่นติดต่อและเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกันง่ายยิ่งขึ้น ปัจจุบันผ้าของชาวลาวครั่งเป็นที่สนใจ เพราะสามารถพัฒนานำมาสร้างรายได้กับชุมชนได้ง่าย ซึ่งการมีประโยชน์เชิงพาณิชย์นี้เองจะส่งผลให้ผ้าซิ่นตีนจกของชาวลาวครั่งถูกเปลี่ยนแปลงความเป็นเอกลักษณ์ไป ดังนั้นนอกจากศึกษาเรื่องลวดลายและเทคนิคแล้วก็มีความตั้งใจที่จะทำงานวิจัยนี้เพื่อจัดเก็บภูมิปัญญาผ้าซิ่นตีนจกของชาติพันธุ์ลาวครั่งให้เป็นระบบก่อนที่ความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นตีนจกจะไปปนกับวัฒนธรรมอื่น 
งานวิจัยนี้นอกจากมีประโยชน์ในด้านการศึกษาแล้ว ยังสามารถสะท้อนคุณค่ากลับไปสู่ชุมชนได้อีกด้วย เพราะก่อนหน้านี้อาจจะมีการทอใช้ในกลุ่มชาติพันธ์แต่ว่าก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุน แต่ปัจจุบันมีการสนับสนุนของภาครัฐ มีโครงการของ OTOP เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนก็ทำให้ชาวลาวครั่งเป็นที่รู้จัก ที่สำคัญคือทำให้ชาวลาวครั่งหันกลับมาทำอาชีพทอผ้าที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของเขาที่สอบทอดมาจากบรรพบุรุษ หากชาวลาวครั่งรุ่นใหม่หันกลับมาทำผ้าทอในเชิงพาณิชย์ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เขาก็จะรักษาเอกลักษณ์ที่เป็นลวดลายหรือรักษาคุณลักษณะความเป็นลาวครั่งของท้องถิ่นดั้งเดิมเอาไว้ได้ดียิ่งขึ้น”
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2559 (Thailand Research Expo 2016)” ระหว่างวันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นเวทีแสดงศักยภาพทางการวิจัยของไทยในระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกับการนำผลผลิตจากงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์
โดยสถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่มีคุณภาพทั้งในระดับชาติและนานาชาติของบุคลากรในมหาวิทยาลัย มีประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อสังคม ดังนั้น จึงนำผลงานวิจัยร่วมแสดงในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559” จะก่อให้เกิดการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการเรียนการสอน การวิจัย ไปยังกลุ่มคนอื่น เพื่อให้นำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างมากยิ่งขึ้นและสามารถขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการและวิจัยต่อไป

img 914

24fofa

FOFA Facebook

PRSWU Facebook

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 114 สุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110  

โทรศัพท์ 0-2649-54696 , 0-2649-5497 และ 0-2649-5505  โทรสาร 0-2260-0123 ต่อ 115

© 2007 fofa.swu.ac.th All Right Reserved.