ขอขอบคุณ ภาพ ข่าว เรื่องราว : คมชัดลึก http://www.komchadluek.net/news/edu-health/304561
งาน “ 5 ธันวาคม ธ ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจแห่งแผ่นดิน” จัดโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เพื่อแสดงความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงไม่ว่าจะเป็น แสงเทียน ยามเย็น ชะตาชีวิต พระราชาในนิทาน ยิ้มสู้ บรรเลงโดยวง SWU BAND รวมทั้งการแสดงรำไทย การแปลอักษรคำว่า “๙ น้อมรำลึก มศว ของผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร”
สมาชิก SWU BAND มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ส่วนใหญ่เรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดนตรีดุริยางคศาสตร์สากล มีตั้งแต่ชั้นปี 1 ไปจนถึงชั้นปี 4 เป็นการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ของเยาวชนที่รักในสายดนตรี
ในฐานะที่เป็นคนตีความหมายของบทเพลง โดยให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของวงดนตรี หรือที่เรียกว่า “วาทยกร” เขาทำอย่างสุดความสามารถเพื่อพ่อหลวงอย่าง "แนส -ชวาล บุญเอียด" อายุ 22 ปี นศ.ปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดนตรีดุริยางคศาสตร์สากล ผู้อำนวยเพลงวง SWU BAND ที่มีทั้งลีล่า ท่าทาง โดยใช้ภาษามือในการสื่อสารกับคนภายในวงได้อย่างแม่นยำเพื่อให้บทเพลงพระราชนิพนธ์ออกมาสมบูรณ์ที่สุด
แนส เล่าว่า เขาภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งนำบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สำหรับเขาเพลงพระราชนิพนธ์มีเสน่ห์ทุกเพลงและที่สำคัญมีความหมายอย่างลึกซึ้งกินใจ ที่เขารักในเสียงดนตรีก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ดั่งพระราชดำรัสที่ว่า
“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า…ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาส และอารมณ์ที่แตกต่างกันไป…” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนสหรัฐเมริกาในปี 2503 พระองค์ได้พระราชทานให้สัมภาษณ์แก่วิทยุกระจายเสียงอเมริกา)
แนส รักในดนตรีตั้งแต่ ป.5 เมื่อก่อนเป็นนักดนตรีของโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ มีผลงานมากมายทั้งทำวงดนตรีโปงลาง วงคอมโบ และเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดนตรีศึกษา โดยเข้าวง SWU BAND ตอน ปี.1 ช่วงแรกเขาทำหน้าที่เป่าแซกโซโฟน และเรียบเรียงเสียงประสาน ปัจจุบันเขาเรียนอยู่ ปี 4 ทำหน้าที่เป็น “วาทยกร” หรือผู้อำนวยเพลง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญสุดของวง
“สำหรับผมดนตรีและเพลงมีเสน่ห์ในตัวมันเองทั้งคอร์ด เมโลดี้ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์โดยนักดนตรี มันจึงเป็นความอิ่มเอิบ เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราต้องการฟังอย่างไม่รู้จบ และแต่ละบทเพลงมีความแตกต่างกันโดยอารมณ์ไม่ว่าจะเศร้า สนุก ชิวๆ เช่นเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิตที่ให้ความรู้สึกเรื่อยๆ แต่ในทำนองและเนื้อร้องช่างมีความหมายลึกซึ้ง อันนี้คงเป็นเหตุผลหนึ่งก็ว่าได้ที่ทำให้ผมหลงรักดนตรี” แนส เล่า
ขณะที่ “ช็อป-ณัฐชนน ตรัสสุภาพ” ผู้ที่ใช้แรงลมเป่ายูโฟเนียมของวง SWU BAND ได้อย่างไพเราะ ช็อปเรียนคณะเดียวกับแนส สาขาดุริยางคศาสตร์สากล ปี 3 เล่าว่า เขาไม่ได้รักการเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากที่บ้านอยากให้เขาเรียนดนตรี หลังจากที่เขาตัดสินใจเรียนดนตรี เขากลับรู้สึกชอบและมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้หยิบเครื่องดนตรีมาเล่นโดยเฉพาะเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง ร.9 ที่มีทั้งความไพเราะและให้ความรู้สึกถึงอารมณ์ของเพลงได้เป็นอย่างดี
ช็อป เรียนจบสายวิทย์ คณิต จากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทางด้านดนตรี และได้อ่านเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความสามารถทางดนตรีทุกประเภท ทำให้มีแรงบันดาลใจมากขึ้น
"ผมบอกได้เลยว่าเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นโน้ตที่ยากมากต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก แต่ในวันนี้ผมสามารถเป่ายูโฟเนียมเพลงพระราชนิพนธ์ของท่านได้ทุกเพลง ทุกโน้ต มันคือความภาคภูมิใจอันสูงสุดของผม” ช็อป เล่า
ความภาคภูมิใจครั้งนี้ คงไม่มีใครเกินผู้ควบคุมวงอย่าง “ อ.โป้ง สิชณม์เศก ย่านเดิม” หัวหน้าสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากล เล่าว่า วงดนตรี SWU BAND ก่อตั้งมานานกว่า 10 ปี แต่ดูแลวงดนตรีมา 6 ปี สำหรับงาน “ 5 ธันวาคม ธ ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจแห่งแผ่นดิน” ใช้เวลาฝึกซ้อมนักศึกษาประมาณหนึ่งเดือนก่อนวันจริง รู้สึกภาคภูมิใจในตัวลูกศิษย์มากที่มีความตั้งใจและมุมานะในการฝึกซ้อมบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ว่าจะเป็น เพลงแสงเทียน ขับร้องโดย อลิตา แบล็ทเลอร์ เพลงยามเย็น ขับร้องโดย ชานนท์ บุตรพุ่ม เป็นต้น
“สำหรับงานนี้ ผมใช้เวลาฝึกซ้อมลูกศิษย์มากพอสมควรเพื่อให้ออกมาดีที่สุด เนื่องจากทำเพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และดีใจที่นำพาลูกศิษย์มาบันทึกเรื่องดีๆ ให้เขาได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีของพระองค์ท่าน เพื่อนำไปเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตและไม่ทิ้งอาชีพสายดนตรี ” อ.โป้ง กล่าว