ขอขอบคุณภาพข่าวจากประชาชาติธุรกิจออนไลน์
“น่าเสียดายที่คนไทยเราโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รุ่นหลังๆ รู้จักความเป็นชาติของตัวเองน้อยมาก” นี่คือคำกล่าวของนักวิชาการผู้รู้และศึกษาเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทยท่านหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าศาสตร์และศิลป์ของชาติไทยเราหลายอย่าง กำลังอยู่ในภาวะถดถอย กระนั้นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ก็ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่ “นาฎศิลป์ไทย” ให้เข้มแข็งและยังก้าวไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการนำเสนอการแสดงร่ายรำระบำฟ้อนให้สอดคล้องกับยุคสมัยและจริตสื่อสังคมยุคใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง เพราะความเชื่อว่านาฎศิลป์คือสื่อการแสดงที่สะท้อนศิลปวัฒนธรรมรากเหง้าแห่งความเป็นชาติไทย
ล่าสุด มศว จัดการแสดงให้ประชาชนผู้สนใจเข้าชมฟรี เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีเวทีแสดงผลงานนาฎศิลป์สร้างสรรค์ ใน โครงการเครือข่ายศิลปกรรม : มหกรรมศิลปะการออกแบบ ดนตรีและศิลปะการแสดงนิพนธ์ ระดับอุดมศึกษา ระดมคณาจารย์หลักสูตรวิชานาฏศิลป์ นักศึกษาเจ้าของผลงานและนักแสดงจากหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ที่มีการเปิดการเรียนการสอนวิชานี้ มาแสดงให้เห็นถึงมหกรรมศิลปะการออกแบบดนตรีและศิลปะการร่ายรำ ผสมผสานกับเรื่องราวคติชนท้องถิ่นนั้นๆ วัฒนธรรมสมัยใหม่ เป็นต้น อาทิ ผลงานการแสดงจากสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาต่างๆ ได้แก่ ตะเกียงปลายเท้า – มศว ซึ่งมีแนวคิดการแสดงจากความเชื่อท้องถิ่นชาวอีสาน ผ่านกลุ่มคนสี่จำพวกที่มีที่มาทั้งมืดและสว่างและมีทางไปสว่างและมืด เป็นปริศนาธรรมนำชีวิต ไม่ให้ยึดติดกับที่มา แต่ให้หาหนทางไปทางสว่างเป็นแนวทางปฏิบัติเสมือนสื่อส่องทางในวาระสุดท้ายของชีวิต ส่วนการแกสงชื่อชุดรูปรอยของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม สื่อแนวคิดว่า เกมส์ออนไลน์ สื่อโฆษณาโทรทัศน์ นำมาสู้การแสดงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนฝาผนังถ้ำ บอกเล่าเรื่องราวการเคลื่อนไหว เป็นภาพต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกแห่งร่องรอยทางอารยธรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ การแสดงชุดหัตถศิลป์ถิ่นราชบุรีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สะท้อนความสำคัญและคุณค่าของโอ่งมังกร งานหัตถศิลป์ขึ้นชื่อของราชบุรี การแสดงชุด Self Esteem เกิดจากแนวคิดที่เห็นว่าชีวิตวัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงต้องการแสดงงานที่ให้เห็นปัญหาวัยรุ่นและให้เห็นคุณค่าของตัวเอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแสดงชุดสุรานารี การแสดงชุดหัวใจไทดำ การแสดงชุดปันหยี สะมิหรัง ของ มศว เป็นการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบนาฎศิลป์ไทยร่วมสมัยที่มีกลิ่นอายวัฒนธรรมอินโดนีเซีย ต้องการให้เห็นการฝ่าฟันอุปสรรคโดยมีความรัก ความหวังและกำลังใจเป็นแรงผลักดันผ่านตัวละครจันตะหรา ในเรื่องหิกะยัต ปันหยี สะมิหรัง / เอาฮูปเอาฮอยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำเอาพิธีกรรมเอาฮูปเอาฮอยของชาวภูไทบ้านโนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร มาแสดงให้เห็นว่าเป็นพิธีกรรมที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขและเป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน การแสดงชุดนารีศรีญัฮกุรของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา / Equality Gender ของมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา / ศรัทธาอมราวดี นาฎศิลป์ร่วมสมัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในสมัยอมราวดีที่มีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา และ เทพเทียนหวาง ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแสดงอุปรากรจีนมาผสมผสานกับนาฎกรรมของไทยคือโขนเข้าไว้ด้วยกันจากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม / ระบำมิตจินตีของวิทยาลัยนาฎศิลป์อ่างทอง นำเสนอกิริยาของปลาตะเพียนในแม่น้ำที่ต้องผจญกับสภาวะต่างๆ ตามธรรมชาติและสะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับปลาตะเพียน ความมงคลของความเจริญก้าวหน้าและความพากเพียร ผ่านเรื่องราวของปลา 3 ตัวที่เป็นสหายกัน เป็นต้น
ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจในงานมหกรรมการออกแบบ ดนตรีและศิลปะการแสดงนิพนธ์ ระดับอุดมศึกษา ครั้งนี้ จะเป็นประตูเปิดสู่ความการเรียนการสอนนาฎศิลป์ไทยให้ก้าวหน้าในยุคไทยแลนด์ 4.0 อีกทั้งยังเป็นนิมิตหมายที่ดีของการแดงเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาติไทยในด้านนาฏศิลป์ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป เพื่อส่งต่อให้กับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่วันนี้ได้มาจัดแสดงผลงานกันด้วยความภูมิใจ